การประกันภัยการเดินทาง เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัยหากผู้เอาประกันภัยประสบอุบัติเหตุ และผลของอุบัติเหตุนั้นส่งผลให้ผู้เอาประกันภัยบาดเจ็บต้องได้รับการรักษาพยาบาล หรือสูญเสียอวัยวะ มือ เท้า และสายตา หรือเสียชีวิต แต่ทั้งนี้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องเกิดขึ้น ภายในระยะเวลาระหว่างการเดินทางที่กำหนดไว้เท่านั้น
หลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นอย่างไร
หลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสำหรับการประกันภัยการเดินทางแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ
- กรณีที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตหรือสูญเสียมือ เท้าและสายตา บริษัทจะจ่ายค่าทดแทน ให้เป็นเงินก้อนแก่ผู้เอาประกันภัยหรือทายาทดังนี้
- 1.1 การเสียชีวิต : 100% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย
- 1.2 การสูญเสียมือ เท้า และ/หรือสายตา รวม 2 ข้าง : 100% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย
- 1.3 การสูญเสียมือ เท้า หรือสายตาหนึ่งข้าง : 50% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย
- กรณีที่ผู้เอาประกันภัยได้รับบาดเจ็บ บริษัทประกันภัยจะจ่ายเงินชดเชยค่ารักษาพยาบาลตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัย
การประกันภัยการเดินทางมีข้อยกเว้นที่บริษัทไม่คุ้มครองอย่างไรบ้าง
การประกันภัยการเดินทาง จะมุ่งให้ความคุ้มครองต่ออุบัติเหตุที่เป็นความเสี่ยงภัยพื้นฐานของคนโดยทั่วไปเท่านั้น ดังนั้นจึงมีการกำหนดข้อยกเว้นในกรมธรรม์ที่จะไม่คุ้มครองในเหตุการณ์บางอย่าง อาทิ
- การกระทำของผู้เอาประกันภัยขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรา หรือยาเสพติด
- การฆ่าตัวตาย พยายามฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายร่างกายตนเอง
- การแท้งลูก
- สงคราม การปฏิวัติ การกบฎ
- การจลาจล การนัดหยุดงาน การที่ประชาชนก่อความวุ่นวายลุกฮือฮาต่อต้านรัฐบาล
- การแผ่รังสี หรือกัมมันตภาพรังสีจากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ อาวุธนิวเคลียร์
- การเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย เช่น เล่นสกี การแข่งรถ แข่งเสก็ต เป็นต้น
- ขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์
- ขณะที่โดยสารอยู่ในเครื่องบินที่มิใช่สายการบินพาณิชย์ เช่น เฮลิคอปเตอร์